ผู้บริบาลผู้สูงอายุ

       จากข้อมูลของ United Nations World Population Ageing พบว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ โดยสมบูรณ์ (Aged Society) ซึ่งสหประชาชาติระบุว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society และจะเป็น "สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ" (Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 โดยตัวเลขของประเทศไทย คาดการณ์ว่าในปี 2564 ไทยจะเข้าสู่สังคมประชากรสูงวัยแบบสมบูรณ์ โดยมีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี เกิน 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด สถานการณ์นี้เป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการแพทย์ทำให้ประชากรมีอายุยืนยาว นโยบายการวางแผนครอบครัวหรือการควบคุมการมีบุตร ทำให้เกิดการลดภาวะเจริญพันธ์อย่างรวดเร็ว และการลดลงอย่างต่อเนื่องของระดับการตายของประชากร ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว                     
        สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาตรการรองรับมาโดยตลอด ซึ่งกำลังกลายเป็นภาวะเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยที่ต้องเผชิญในอนาคต เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 มกราคม 2563 ในที่ประชุมได้รับทราบรายงานการคาดการณ์ประชากรของประเทศไทยระหว่างปี 2553-2583 ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ  ซึ่งสาระสำคัญของรายงานฉบับนี้ พบว่าในปี 2563 คาดการณ์ประชากรคนไทย 66.5 ล้านคน แต่ในปี 2571 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 67.2 ล้านคน แต่หลังจากนั้นจำนวนประชากรจะลดลงในอัตราร้อยละ -0.2 ต่อปี โดยในปี 2583 คาดประมาณว่าจะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน ขณะที่ประชากรวัยเด็กนับตั้งแต่แรกเกิด-14 ปี มีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2563 มีจำนวนประชากรเด็ก 11.2 ล้านคน แต่จะลดลงเป็น 8.4 ล้านคนในปี 2583 ในขณะที่ประชากร “ผู้สูงอายุ” ในวัย 60 ปีขึ้นไป ตัวเลขในปี 2563 มีจำนวนประชากร 12 ล้านคน แต่จะเพิ่มเป็น 20.42 ล้านคนในปี 2583 โดยเฉพาะในปี 2562 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรวัยเด็ก เท่ากับประชากรผู้สูงอายุที่ 11.3 ล้านคน หลังจากนั้นจำนวนประชากรวัยเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุ ส่วนประชากร “วัยแรงงาน” ช่วงอายุ 15-59 ปี ในปี 2563 อยู่ที่ 43.26 ล้านคน แต่มีแนวโน้มลดลงเป็น 36.5 ล้านคนในปี 2583 ที่สำคัญพบว่าอัตราส่วน “วัยแรงงาน” ต่อ “ผู้สูงอายุ” จะลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คน ต่อผู้สุงอายุ 1 คนในช่วงปี 2583 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงาน เพิ่มขึ้นจาก 27.7 ต่อวัยแรงงาน 100 คนในปี 2563 เป็น 56.2 ต่อวัยแรงงาน 100 คนในปี 2583  จากประเด็นดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผลที่ตามมาของประเทศที่เข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งหากเป็นประเทศกำลังพัฒนา เมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น ส่งผล ดังนี้
     1. ปัจจัยการผลิตทางด้านแรงงานลดลง 
     2.เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวมากขึ้น การลงทุนการออมน้อยลง 
     3. ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) หรือรายได้ประชาชาติน้อยลง 
     4. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นขณะที่งบประมาณรายได้ลดลง รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณด้านสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุมากขึ้น 

ผลกระทบต่อสังคม ได้แก่ ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง สภาพจิตใจย่ำแย่และความเสื่อมโทรมทางร่างกายที่ส่งผลต่อภาวะสุขภาพต่างๆตามา และจำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุควรจะร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนตั้งแต่ระดับบุคคลชุมชนและประเทศเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ให้ความรู้สังคม และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีงานทำมากขึ้น สนับสนุนให้มีการ เตรียมวางแผนการออม การใช้ชีวิตในบั้นปลาย ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าเพื่อไม่ให้เป็นภาระสังคมต่อไป

         จากผลกระทบทางด้านสุขภาพที่จำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับการดูแล ภายใต้การพัฒนาด้านสาธารณสุขที่มุ่งเน้นสร้างนำซ่อมสุขภาพเริ่มตั้งแต่สมัยการปฏิรูประบบสุขภาพและสวัสดิการด้านการรักษาตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่รัฐบาลสมัยนายก ดร.ทักษิณ ชินวัตรได้นำทัพแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์สุขภาพที่มุ่งจัดการปัญหาและความต้องการของประชาชนคนไทย ซึ่งในขณะนั้นถูกกระแสโจมตีมากมาย แต่ก็ยังมีการนำแนวคิดฯดังกล่าวมาต่อยอด  และในเดือนสิงหาคม 2563 องค์การสหประชาชาตินำโดยนางชุมยา สวามินาถัน รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก และคณะทำงานเฉพาะกิจภายใต้สหประชาชาติ ซึ่งมาปฏิบัติภารกิจด้านการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย (United Nations Inter Agency Task Force Mission to Thailand on Noncommunicable Disease: UNIATF) เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยได้กล่าวชื่นชมกับนโยบายดังกล่าวฯพร้อมกับขอตัวอย่างนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปใช้ในประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ ต่อไป    

        คำว่า "บริบาล" หมายถึง ผู้ดูแล

        ผู้บริบาล หมายถึง ผู้ดูแลโดยรอบ เช่น ดูแลคนแก่ ผู้ป่วย เด็ก คนพิการ อาจรวมถึงครูพี่เลี้ยงเด็ก ที่สามารถดูแลได้ที่บ้านหรือในชุมชน

         ระบบสุขภาพของประเทศไทยก่อนมีการปฏิรูประบบสุขภาพขึ้นพบว่ามีข้อจำกัดหลายประการที่สำคัญ ได้แก่ การเน้นการรักษา โรคมากกว่าการส่งเสริมสุขภาพ การเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ในขณะที่คนไทยจำนวนมากยังป่วยและตายจากโรค และสาเหตุของโรคที่สามารถป้องกันได้ นอกจากนี้ระบบบริการสุขภาพก่อนการปฏิรูปยังมีปัญหาด้านคุณภาพและประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการรับบริการ และส่วนใหญ่ยังขาดหลักประกันด้านสุขภาพ ต่อมาหลังการปฏิรูปประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2540 มาตรา 52 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน...” และมาตรา 82 “รัฐต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง”  (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540) ได้นำไปสู่การปฏิรูประบบสุขภาพ รวมทั้งการปรับโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2545 ซึ่งยังคงความรับผิดชอบด้านสุขภาพของประชาชนไว้ตามเดิม ดังมาตรา 42 กำหนดว่า “กระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพอนามัย การป้องกัน ควบคุม และการรักษาโรคภัย การฟื้นฟูสุขภาพของประชาชน ...” พร้อมกันนี้ยังได้มีการตราพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิในการรับบริการ การรักษาพยาบาล และความปลอดภัยของประชาชน ความเคลื่อนไหวเพื่อให้ประชาชนได้รับหลักประกันสุขภาพตามเจตนารมย์ของรัฐเหล่านี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในระบบสาธารณสุขที่ปฎิรูปใหม่ ดังที่นายแพทย์โกมาตร (โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ, 2541) กล่าวว่า “กระแสการปฏิรูประบบสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กำลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบบริการสุขภาพอย่างรุนแรง โดยระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิได้กลายเป็นยุทธศาสตร์ของระบบบริการใหม่นี้” อย่างไรก็ดี การตีความในเชิงปฏิบัติเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับประกันด้านสุขภาพยังเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าสุขภาพในระบบใหม่เน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพโดยให้ประชาชนมีความรู้ ปฏิบัติตนให้มีสุขภาพแข็งแรง และป้องกันโรคที่สามารถป้องกันได้  และยังเน้นเรื่องการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียให้เป็นศูนย์กลางการทำงาน เพื่อให้เกิดการรวมพลังทางสังคมในการขับเคลื่อนชุมชนเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนเอง การปฏิรูประบบสุขภาพจึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปฏิบัติงานในชุมชน ซึ่งประกอบด้วยพยาบาลจำนวนมากสุดในกลุ่มผู้ให้บริการ และมีการบริการแก่ประชาขนโดยตรง 
     นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีแนวทางด้านการดูแลสุขภาพโดยเน้นให้ประชาชนรู้จักการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้มีภาวะสุขภาพที่แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคที่ดี และแน่นนอนที่สุดว่าเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุ นั่นคือ จำนวนผู้สูงอายุมีเพิ่มมากขึ้น ผู้สูงอายุจะมีความเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น อ่อนแรง เป็นอัมพาต มีความพิการอย่างอื่นๆ ในขณะเดียวกันเมื่อประชาชนทุกกลุ่่มวัย รวมถึงผู้สูงอายุหากได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชนดีภายใต้แนวคิดการสร้างสุขภาพ จะส่งผลให้อัตราการเข้าการรักษาหรืออัตราการนอนหรืออัตราครองเตียงยอมจะลดน้อยลงเพราะเป็นการประหยัดงบประมาณด้านการสาธารณสุข รวมไปถึงกลุ่มโรคเรื้อรังที่ไม่ควรนอนโรงพยาบาล เพราะสามารถส่งเสริมสุขภาพ ดูแลตัวเองได้ และไม่ต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อน หรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาอีกด้วย                

       นอกจากนี้พบว่าการที่ผู้สูงอายุที่ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลก่อให้เกิดการแปลกแยกจากสภาพแวดล้อมเดิม ๆที่คุ้นเคย ทำให้เกิดความไม่สุขสบาย และคอยจะร้องขอ "กลับบ้าน" นั่นแสดงให้เห็นว่าถ้า  ผู้สูงอายุไปนอนรักษาตัวที่บ้านย่อมมีกำลังใจและความอบอุ่นที่ดีจากบุตรหลาน และจะมีความสุขสบายกว่านอนรักษาตัวในโรงพยาบาล อันมีผลต่อการบรรเทาจากอาการที่เป็นอยู่ ด้วยเหตุผลดังกล่าวฯ  คิดว่าควรมีพยาบาลเยี่ยมบ้านไปเยี่ยมถึงบ้าน สัปดาห์ละครั้งหรือบ่อยเท่าไรตามความจำเป็น เพื่อทำหัตถการบางอย่างและสอนผู้ป่วยหรือญาติ และแน่นอนที่สุดว่าหากจะส่งเสริมให้การดูแลตัวเองที่บ้านให้ได้ผลดีจำเป็นอย่างยิ่งว่า ในผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องการผู้บริบาลดูแลเป็นประจำอันได้แก่บุตรหลานหรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นั่นคือทีมสุขภาพภาคประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่กำหนดไว้ว่า การเยี่ยมบ้านที่ดีจะต้องอาศัยทีมสุขภาพจากโรงพยาบาล เช่น พยาบาลเวชปฏิบัติครอบครัว  นักสาธารณสุข  เภสัชกร ฯลฯ  

       ผู้บริบาลจะต้องมีคุณลักษณะที่ดี มีจิตใจโอบอ้อมอารี มีเมตตา มีทัศนคติที่ดีในเชิงบวก เสียสละ และจำต้องมีองค์ความรู้อย่างน้อยผ่านการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติพื้นฐาน 6 เดือน  ได้แก่ การเปลี่ยนงแปลงด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และวิญญาณ (ความเชื่่อ) โรคระบาดที่สำคัญในชุมชน โรคเรื้อรัง  การดูแลสิ่งแวดล้อม การประเมินภาวะสุขภาพเบื้องต้น  การวัดสัญญาณชี  การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเยี่ยมบ้านและการบันทึกรายงานด้านสุขภาพ กฏหมายเบื้องต้น หลักการสื่อสารที่ดี การให้คำปรึกษา การออกบัตรและสิทธิด้านการรักษาพยาบาลตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการให้สุขศึกษา สมุนไพรที่จำเป็น การส่งต่อ การค้นหาปัญหาและการเขียนแผนงานโครงการสุขภาพในชุมชน ฯลฯ 

        ดังนั้นเพื่อให้เกิดการดูแลแบบองค์รวม (Holist Care) ในชุมชนย่อมส่งผลให้ระบบการดูแลสุขภาพไปในทิศทางที่ดี ประชาชนรู้จักการดูแลตัวเอง ดูแลกันเองในชุมชนและครอบครัว และมีระบบข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน มีความเชื่อมโยงและผลดีต่อการรักษาของแพทย์เป็นอย่างดีและมีข้อมูลด้าน จปฐ.ที่สอดคล้องกับข้อมูลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นผลดีอีกแง่หนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนต่อไป ผู้เขียนในฐานะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการปฎิบัติงานในชุมชน ในคลีนิค เป็นผู้สอนและวิจัยในงานด้านสุขภาพ เห็นควรว่า กระทรวง นักวิชาการ สภาพยาบาล สภาสาธารณสุข และผู้ที่เกี่ยวข้องฯ ควรจัดทำแผนกลยุทธ์ในงานสร้างสุขภาพด้านศักยภาพของทีมสุขภาพภาคประชาชนในด้านการดูแลเบื้องต้นหรือการบริบาล โดยจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพผู้บริบาลในชุมชนขึ้นเพื่อการยกระดับ อสม. ซึ่งเป็นผู้ดูแลและใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด ซึ่งอาจรวมไปถึง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำวัด (อสว.) หรือพระคิลานุปัฏฐาก นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการบูรณาการศูนย์สาธารณสุขชุมชนขึ้น จัดหาวัสดุอุปกรณ์ให้มีและพร้อมใช้ การบริหารจัดการผู้บริบาลมาประจำ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตุประสงค์ของงานสาธารณสุขมูลฐาน (สสม.) และงานสร้างส่งเสริมสุขภาพตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมกับการขับเคลื่อนกิจกรรมด้งกล่าวฯ พร้อมกับมุ่งเน้นบริการที่มีคุณภาพหรือที่ดีมาใช้ ตลอดถึงการออกแบบนิเทศติดตามงานสาธารณสุขมูลฐาน.. แท้จริงแล้วงานสาธารณสุขมูลฐานเดิมไม่มีความแตกต่างด้วยซ้ำเพียงเพิ่มศักยภาพของบุคลากหรือทีมสุขภาพภาคประชาชน การมีและใช้เครื่องมือ-วัสดุอุปกรณ์ได้อย่างถูกต้อง มีระบบการบันทึกข้อมูลสุขภาพในงาน สสม.ในชุมชน ภายใต้การฝึกอบรม การนิเทศติดตาม และประเมินงาน อสม ในชุมชน จากเจ้าหน้าที่ทีมสุขภาพ ในขณะเดียวกัน อสม.ก็มีงบประมาณกิจกรรมงาน สสม.และสวัสดิการสังคมจากกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว รวมทั้งการจัดหางบประมาณจากแหล่งอื่นๆมาสนับสนุนแก่ผู้ปฏิบัติงาน และหากต้องการให้เกิดการพัฒนางานสสม.อย่างเป็นรูปธรรม ควรมีการทดลองนำร่องขึ้นโดยพิจารณาจังหวัดที่มีความพร้อม และส่งเสริมให้ทำวิจัย R2R ควบคู่ไปด้วยเพื่อหาแนวทางการพัฒนาหรือนวัตกรรมใหม่ๆขึ้น อันจะนำให้เกิดผลดีในที่สุด และปัญหาด้านสุขภาพในชุมชนในอนาคตน่าจะลดลงและส่งผลต่องานสร้างสุขภาพที่บรรลุตามวัตถุประสงค์ของงานตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชนและผู้สูงอายุในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

ข้อคิดเพื่อการพัฒนา

1. ควรดูแลผู้สูงอายุไทย ยุค4.0 อย่างไร 

    2. ใครคือผู้ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุไทย ยุค4.0

    3. บทบาทของผู้ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุมีใครบ้าง 

    4. ผู้สูงอายุ ครอบครัว ชุมชน ควรมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง 

    5. จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้อย่างไรบ้าง 

    6. โรงเรียนพนักงานผู้ช่วยพยาบาล หลักสูตร NA 6 เดือนช่วยได้หรือไม่อย่างไร 

    7. ญาติผู้ดูแลสุขภาพควรมีบทบาทอย่างไรบ้างในการดูแลผู้สูงอายูในยุค 4.0

    8. สถานศึกษาที่มีหน้าที่ผลิตบุคลากรในหลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพจะต้องทบทวนบทบาทของบุคลากรทั้งหมดเพื่อเตรียมความพร้อมกับการจัดการระบบบริการสุขภาพของผู้สูงอายุในยุค 4.0 ทั้งหมด

    9.ค่าตอบแทนสำหรับผู้ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุจะเพียงพอหรือไม่สำหรับผู้ดูแลสุขภาพทั้งหมด

    10.อัตรากำลังที่เหมาะสมสำหรับดูแลผู้สูงอายุไทยในยุค 4.0 คือเท่าไหร่

    11. สถานบริการของรัฐ เช่น รพ.สต. รพช. รพท. และรพศ. ฯลฯ มีบทบาทอย่างไรบ้างกับการตั้งรับกับสังคมผู้สูงอายุไทยในยุค 4.

    แหล่งอ้างอิง

    1.https://www.komchadluek.net/news/scoop/411272

    2.https://www.doctor.or.th/article/detail/5859

    3.รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุ พ.ศ.2556 โดย มส.ผส.

    4. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (2553). พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 บริษัท วิถี จำกัด.

    5.อำพล จินดาวัฒนะ (2546)ปฏิรูปสุขภาพ: ปฏิรูปชีวิตและสังคม สำนักงานปฏิรูปสุขภาพแห่งชาติ กรุงเทพ: อุษาการพิมพ์.

    6.สมจินต์ เพชรพันธุ์ศรี. (2550). การพยาบาลเพื่อการฟื้นฟูสภาพประยุกต์ใช้ในผู้สูงอายุ (พิมพ์ครั้งที่ 2).กรุงเทพฯศุภวนิชการพิมพ์.

    7.Pearson, A. Field,J.,Z. (2006) Evidence Based Clinical Practice in Nursing and Health Care: Blackwell Publishing.

    8.Rheiner, N. W. (1982). “Role theory: Framework for change” J. Nursing Management 13(3): 20-22.

    ความคิดเห็น

    โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

    แนวทางการบริบาลผู้สูงอายุ

    นโยบายสาธารณะของรัฐบาลไทย